สัมมนาออนไลน์ “แนะ SME โตสวนกระแสโควิด-19 จากแนวคิดที่ปรึกษาธุรกิจและกูรูเทคโนโลยี”


2022-03-11 10:24:13
#นามบัตร #นามบัตรดิจิตอล #นามบัตรดิจิทัล #สวนกระแสโควิด #ดร.วิริยะ ลิขิตวงศ์ #ดร.วิริยะ

สรุปเนื้อหา สัมมนาออนไลน์

“แนะ SME โตสวนกระแสโควิด-19 จากแนวคิดที่ปรึกษาธุรกิจและกูรูเทคโนโลยี”

“ธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 Digital Name Card เพื่อ SME ยุคใหม่”

โดย ดร. วิริยะ ลิขิตวงศ์ นายกสมาคมเครือข่ายที่ปรึกษาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และคุณทินกร เหล่าเราวิโรจน์ อดีตนายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และผู้พัฒนา platform นามบัตรดิจิทัล

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 14:00 - 15:00 น. ทาง https://www.facebook.com/yqrtoday/videos/235446525374666


SME จะทำอย่างไรให้อยู่รอดกับสถานการณ์ COVID-19 ที่จะยังอยู่อีกนาน จะปรับตัวอย่างไร และจะทำอย่างไรกับธุรกิจของเรา ถึงแม้จะมีการปรับตัวกันบ้างแล้ว แต่บางธุรกิจก็หายไปเลยหรืออยู่กันแบบประคองตัว

Asset ที่สำคัญที่สุด ณ ตอนนี้คือแบรนด์หรือตราสินค้าที่ต้องรักษาเอาไว้ก่อนเพื่อรอโอกาส อย่าปล่อยให้หายไป


บรรยายเรื่อง “แนะ SME โตสวนกระแสโควิด-19 จากแนวคิดที่ปรึกษาธุรกิจและกูรูเทคโนโลยี” โดย ดร. วิริยะ ลิขิตวงศ์

สถานการณ์ปัจจุบัน

  • อัตราส่วนระหว่างตลาดออนไลน์ : ออฟไลน์ = 70 : 30 จึงมีคำใหม่ O2O (Online to Offline) ท่านต้องระลึกอยู่เสมอว่าการทำธุรกิจทุกวันนี้ทิ้งออนไลน์ไม่ได้ ต้องมีแพลตฟอร์มต่าง ๆ ต้องมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่จะช่วยเราได้
  • ทุกธุรกิจมีความเสี่ยง ต้องมีการบริหารความเสี่ยง ต้องขจัดปัจจัยของความเสี่ยง ซึ่งสามารถทำได้ แต่สิ่งที่เสี่ยงที่สุดคือการไม่ทำอะไรเลย
  • การเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็สำคัญ เราต้องหาเงินทุนให้ได้ ไม่ว่าจากธนาคารหรือนอกระบบ บางครั้งรัฐบาลก็เป็นแหล่งเงินทุนให้เราได้ 100% บ้าง 50% บ้าง หรือเราอาจจะใช้เงินทุนตัวเองก็ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ซึ่งดอกเบี้ยก็ไม่ถูกและต้องคิดเป็นต้นทุนของธุรกิจ ต้องระลึกอยู่เสมอว่าดอกเบี้ยคือต้นทุนธุรกิจ ถ้าเราไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ต่อไป
  • ตวรจเช็คสุขภาพธุรกิจของตัวเอง (วินิจฉัยสถานประกอบการ) เปรียบเสมือนเราไปหาหมอต้องมีการวินิจฉัยโรค ทางธุรกิจก็คือที่ปรึกษาต้องวินิจฉัยสถานประกอบการ ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย แค่แจ้งมาทาง YourQR เราจะไปเช็คสุขภาพทางธุรกิจให้ ดูแผนธุรกิจ ดูสต๊อค การผลิต ของเสียหายเยอะไหม ช่องทางการจัดจำหน่าย โครงสร้างทางการเงิน หนี้สิน ทรัพย์สิน ฯลฯ ก่อนที่ท่านจะประคองธุรกิจหรือพัฒนาธุรกิจของท่านต่อไป ต้องวินิจฉัยสถานประกอบการของท่านว่าป่วยไหม ขาดกระแสเงินสดไหม วัตถุดิบขาดไหม สต๊อคเป็นอย่างไร เราจะโตไม่ได้ ถ้าเราไม่รู้จักตัวเราเอง เราต้องฟังจากคนอื่นด้วยเหมือนเป็นกระจกสะท้อน หลายธุรกิจที่เติบโตได้ในทุกวันนี้ก็เพราะเขาเปิดใจรับฟังความเห็นของคนอื่น
  • การจงรักภักดีในแบรนด์ (Brand Loyalty) ถ้าท่านสร้างได้จะถือว่าเป็น asset มหาศาล สำคัญมาก! ผมชื่นชมกระเป๋ายี่ห้อหนึ่ง : LV ที่ลูกค้ามี loyalty เพราะสินค้ามี Added Value สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ สินค้ามีมูลค่าในตัวของมันเอง ท่านจะต้องกอดตราสินค้าหรือยี่ห้อของท่านไว้กับตัวให้ได้
  • Case Study เรื่องการไลฟ์สดหิ้วของประตูน้ำ ต่อไปนี้ท่านไม่ต้อง สต๊อค สินค้าเองแล้ว ใช้โทรศัพท์มือถือเครื่องเดียวไปไลฟ์สดที่หน้าร้านเลย แบบนี้ สีนี้ เบอร์นี้ ราคาเท่านี้ ไม่ต้องลงทุนซื้อหลายแบบ หลายเบอร์มาสต๊อค และราคาขายก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก ผมเชื่อว่าอาจจะมีธุรกิจอื่นที่สามารถทำแบบนี้
  • Case Study ธุรกิจแห่งความศรัทธา ยกตัวอย่างการไปบูชาพระ หรือการไปขอพร จะเห็นว่าถ้ามีเกิดมีความศรัทธาขึ้นมา อะไรก็ขายได้ ผมเชื่อว่าถ้าลูกค้ามีความศรัทธาต่อแบรนด์หรือต่อธุรกิจของเรา อะไรก็ขายได้

ธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 กับ 5 ประเด็นหลักที่น่าสนใจ

1. ประคองธุรกิจด้วยหัวใจ

ตราบใดที่ท่านทำเรื่อง Branding ได้ เรื่อง Business plan การประคองตัวของธุรกิจได้ คืออย่าคิดเลยครับว่าธุรกิจมันจะโต จะขึ้นทางด่วนแล้วโต มันมีแค่เพียงไม่กี่ธุรกิจเท่านั้นที่จะโต เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ท่านต้องทำให้ได้คือความถูกใจในตัวสินค้าและบริการ การซื้อซ้ำถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่สุดที่จะรักษาลูกค้าไว้ให้ได้

2. ปรับแผนธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์

ด้วย 3B : Business Idea, Business Model, Business Plan ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจ ยกตัวอย่างในแต่ละหัวข้อ

  • Business Idea : 
    • กล่องสุ่ม ไม่น่าเชื่อว่าจะขายได้เป็นสิบล้าน ร้อยล้านในเวลาไม่เท่าไหร่ อันนี้เป็นตัวอย่างของ Business Idea ว่าท่านต้องคิด ต้องปรับตัวอยู่เสมอ ท่านต้องพยายามหาแนวความคิด หารูปแบบธุรกิจ ไอเดียไม่จำเป็นต้องสำร็จเสมอไป ทำได้/ไม่ได้ อย่าเพิ่งไปคิดถึงตรงนั้น ท่านต้องคิดให้ได้ก่อนว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นรูปแบบใหม่ แนวทางใหม่ ลองผิดลองถูก คิด cash flow เฉลี่ยออกมาแล้วมีความคุ้มค่า
    • ประมูลสินค้าออนไลน์ ท่านไม่ต้องเดินทางไปสถานที่ประมูลอีกต่อไป และบางครั้งเริ่มต้นประมูลไม่กี่บาทแต่จบที่หลักพันบาท และท่านไม่ต้องสต๊อคสินค้า หรือไม่ต้องมีสินค้าเลย ขอให้ท่านมีช่องทางการจัดจำหน่าย ในการกระจายสื่อออกไป ผมเองเคยสั่งสินค้าออนไลน์จาก Marketer ซึ่งไม่ใช่เจ้าของสินค้า พอคุยกันเสร็จ โอนเงิน เขาก็ไปสั่งสินค้าจากเจ้าของสินค้า แล้วโกดังก็ส่งสินค้ามาให้เรา
    • ร้านทุกอย่าง 20 บาท มีร้านหนึ่งที่มาขอคำปรึกษาจากผมชื่อร้านมิกิ มิกิ ร้านนี้ขายของทุกอย่าง 10 บาท คิดว่าเขากำไรไหมครับ ชิ้นหนึ่งต้นทุน 8 บาท 9 บาท 9.50 บาท เขาไม่ได้กำไรจากสินค้าครับ เขากำไรจากแฟรนไชส์ที่คนมาซื้อแบรนด์ของเขาไป
    • Starbucks ขายกาแฟไหมครับ กาแฟแก้วนึงร้อยกว่าบาท เปล่า Starbucks ขายพื้นที่ที่เรียกว่า the Third Place คือสถานที่ที่ไม่ใช่บ้านหรือที่ทำงานที่ผู้คนจะมาพบปะกัน พูดคุย ประชุม หรือพักผ่อน เพราะบรรยากาศมันได้
    • ลูกชิ้น เรื่องของเรื่องคือผมได้ค้นพบโรงงานผลิตลูกชิ้นที่อร่อยและสะอาด ในราคาไม่แพงเฉลี่ยแล้วตกลูกละประมาณ 1 บาทเท่านั้น ผมก็เกิด Business Idea ขึ้นมาว่าจะเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นน้ำใสให้ได้ 100 สาขาทั่วประเทศ อาจะเป็นแฟรนไชส์ หรือร่วมทุน หรือถ้าทุนน้อยก็รถเข็นก็ได้ คิดว่าถ้าขายชามละ 25 บาท ใส่ลูกชิ้นสัก 5 - 6 ลูก เราอาจจะมีกำไรจากการขายก๋วยเตี๋ยววันละ 300 - 400 บาทต่อสาขา ทั้งหมด 100 สาขา ก็จะเป็นเงินจำนวนไม่น้อยทีเดียว
  • Business Model

แนะนำให้ท่าน Search Google แล้วไปดูคลิปวิดีโอเรื่อง Change SMEs “เปลี่ยนแล้วรวย” ถ้าจำไม่ผิดจะมี 7 - 8 ep. ผู้เดินเรื่องชื่อ อ.สมาน จะพูดถึง BMC หรือ Business Model Canvas ในเรื่อง อ.สมานทำธุรกิจเกี่ยวกับสำนักเจ้าเข้าทรง มี service ให้ท่านได้เลือกซื้อ อยากให้อาม่าเข้าฝัน อยากดูอากงว่าขึ้นสวรรค์หรือลงนรก ทำได้หมด แต่จริง ๆ แล้วทั้ง 8 ep. จะสอนเรื่อง Business Model หรือรูปแบบทางธุรกิจ อยากให้ท่านได้ดูเรื่องนี้ก่อนแล้วท่านจะได้อะไรเยอะ ผมเชื่อว่าถ้าท่านได้ดูเรื่องนี้แล้ว ท่านจะเข้าใจธุรกิจที่ท่านทำแน่นอน ต้องให้เครดิตกับกระทรวงพาณิชย์ กรมธุรกิจการค้าซึ่งเป็นผู้ผลิตสื่อที่ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าใจได้ง่ายขึ้น

  • Business Plan

ก็คือแผนการตลาด ประกอบด้วยแผนการตลาด, แผนการจัดการ, แผนการผลิต, แผนการเงิน, แผนบริหารงานบุคคล, แผนบริหารความเสี่ยง, SWOT Analysis, Key Success Factor ซึ่งท่านสามารถค้นหา template เหล่านี้ได้ในอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ท่านเขียนแผนธุรกิจคร่าว ๆ ได้ แต่ท่านต้องมีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในการเขียนแผนธุรกิจ แล้วจะเขียนไปเพื่ออะไร (1) ตรวจเช็คธุรกิจของตัวเองว่าคุณจะไปรอดไหม พยากรณ์ไว้ 1 ปี 3 ปี 5 ปี (2) ถ้าเราต้องการพัฒนาธุรกิจของเราให้ใหญ่ขึ้นกว้างขึ้น ขายดีมากขึ้น ต้องทำแผน ก็มีบางธุรกิจที่ทำธุรกิจแบบไม่มีแผน ก็ไม่เป็นไร แต่แทนที่จะเติบโตหรือมีกำไรได้มากขึ้นกว่าเดิมก็เสียโอกาส ถ้าท่านสนใจก็ลองหาคนช่วยเขียนดูนะครับ อีกอย่างหนึ่งคือ SWOT Analysis วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค เคยทำ SWOT Analysis ของตัวเองไหม เคยถามตัวเองไหมว่าตัวเองมีจุดแข็งอะไรบ้าง มีจุดอ่อนอะไรบ้าง ถ้าไม่เคยก็ลองทำ SWOT Analysis ธุรกิจของตัวเองดู และปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจเราคืออะไร (Key Success Factor) ท่านตอบได้ไหม เพราะว่าของเราดี ราคาถูก หาซื้อง่าย ยกตัวอย่าง Key Success Factor ของ 7-eleven คืออะไรครับ เพราะเขามีทุกอย่างแม้กระทั่งอาหารตามสั่ง

แผนการตลาดเป็นเรื่องสำคัญ ท่านต้องเริ่มทำได้แล้ว เพราะการทำ Business Plan เปรียบเสมือนการทำธุรกิจบนกระดาษ เสียหายก็แค่กระดาษ 1 รีม มิหนำซ้ำยังรู้ด้วยว่า cash flow ของเราเป็นอย่างไร เราจะขายได้ตามประมาณการนี้ไหม มันสำคัญมากนะครับ อย่าไปคิดว่าเป็นแค่เรื่องของทฤษฎี เรื่องเอกสาร ยุ่งยาก

3. ก้าวสู่ตลาดวิถีใหม่ เศรษฐกิจวิถีใหม่ ธุรกิจวิถีใหม่

ทุกอย่างใหม่หมด ทุกวันนี้มีผู้รับผลิตสินค้าให้เรา (OEM) สร้างแบรนด์ให้ ท่านอยากมีแบรนด์น้ำพริกเป็นของตัวเองใช้ตังค์ไม่กี่พันบาท เขาออกแบบ ผลิต บรรจุ แล้วส่งมาให้ถึงบ้านเลยนะครับ สิ่งที่ท่านต้องทำคือสร้างช่องทางการจัดจำหน่าย ทำตลาด แทบจะไม่ต้องสต๊อคเลย แค่นิดหน่อยพอ หรือถ้าท่านทำ Drop Ship ท่านก็ยิ่งไม่ต้องทำ ไม่ต้องผลิต ไม่ต้องสต๊อค สินค้าเลย ตลาดวิถีใหม่ เศรษฐกิจวิถีใหม่ ธุรกิจวิถีใหม่คือแบบนี้ แต่ที่ต้องทำคือ ทำตลาดทุกช่องทาง ขายทุกทางที่ขายได้ คนที่มีตลาดหรือช่องทางการจัดจำหน่ายอยู่ในมือ อะไรก็ขายได้ ตลาดวิถีใหม่เป็นอย่างนี้ เราไม่ต้องไปลงทุนซื้อเครื่องจักร ซื้ออะไรมา ไม่จำเป็นที่ต้องลงทุนขนาดนั้น ขายเป็น ขายเก่ง ขายได้ ทำน้อย ได้มาก ถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จ แต่ถ้าทำมากแล้วเหลือน้อย เลิกทำดีกว่า

4. พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกลุ่ม

ผลิตภัณฑ์วิถีใหม่ ท่านต้องมีระบบคุณภาพมาตรฐาน เช่น อย. ฮาลาล ส่วนบรรจุภัณฑ์ก็ต้องสะดวก ประหยัด ดูดี มีราคา มีมูลค่าเพิ่ม ยกตัวอย่างยาหม่องที่เคยอยู่ในตลับก็มีการพัฒนาให้เป็นแท่งเหมือนลิปสติกสามารถใช้ทาได้เลย

  1. แนะนำหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือใช้บริการ รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

หน่วยงานภาครัฐและเอกชนพร้อมให้การช่วยเหลือ สนับสนุน ส่งเสริม SMEs หรือ OTOP ขอเพียงแต่ผู้ประกอบการทำตัวให้พร้อมรับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เปิดใจ เปิดตัว เปิดแผง อย่าอีโก้

หน่วยงานเหล่านั้นมีใรบ้าง

  • กระทรวงอุตสาหกรรม
    • กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
      • ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 1 - 11
        • ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบบรรจุภัณฑ์
        • ให้ทุนสนับสนุนดอกเบี้ยต่ำ 4%
        • ทดสอบแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร
        • ออกแบบโลโก้ ทำป้าย ฯลฯ
  • กระทรวงพาณิชย์
    • กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
    • กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
    • กรมทรัพย์สินทางปัญญา
    • กรมการค้าภายใน
    • กรมการค้าต่างประเทศ
    • องค์การคลังสินค้า
    • สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
    • สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)
  • กระทรวงมหาดไทย
    • กรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ
    • องค์การตลาด (อต.)
  • กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
    • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
    • สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
    • สำนักงานนวัตกรรม
    • กรมวิทยาศาสตร์บริการ
    • ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)
    • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
  • กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
    • เกษตรจังหวัด
    • เกษตรแปรรูป
    • โครงการ ฟู้ดวัลเลย์ เชียงใหม่ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์
    • สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารต่างชาติ
    • องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อตก.)
    • กรมส่งเสริมสหกรณ์
  • กระทรวงการคลัง
    • ธนาคารออมสิน
    • ธนาคารกรุงไทย
    • ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) SMEs Bank
    • ธนาคารอาคารสงเคราะห์
    • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.)
    • ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.)
    • ธนาคารอิสลาม
    • บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
  • สำนักนายกรัฐมนตรี
    • สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
    • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
  • สถาบันการศึกษา
  • ภาคเอกชน
    • สมาคม ฯ
    • มูลนิธิ ฯ
    • สถาบัน ฯ
    • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
    • สภาหอการค้า
    • องค์กรอิสระ ฯ
    • บริษัท ฯ เช่น ตลาด ดอท คอม



บรรยายเรื่อง “ธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 Digital Name Card เพื่อ SME ยุคใหม่” โดยคุณทินกร เหล่าเราวิโรจน์

บางท่านอาจจะคิดว่านามบัตรดิจิทัลจะมีประโยชน์อะไรมากมายนักหนา แต่รู้หรือไม่ว่าเทคโนโลยีง่าย ๆ แบบนี้สามารถช่วยเสริมธุรกิจท่านได้

Digital Name Card หรือนามบัตรดิจิทัลเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท นายเน็ต จำกัด โดยใช้ชื่อบริการว่า “YourQR” เป็นสิ่งที่เราออกแบบมาให้ตอบสนองกับวิถีปฏิบัติยุคนี้ จากเมื่อก่อนเราใช้นามบัตรกระดาษพอเปลี่ยนมาเป็นดิจิทัล มันไม่ใช่การเปลี่ยนแค่เลิกกระดาษหรือลดการใช้กระดาษแล้วมาใช้ดิจิทัลบนมือถือเท่านั้น แต่มันกลายเป็นเครื่องมือให้เราได้ข้อมูล เก็บข้อมูล และเอาข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะข้อมูลนามบัตร

สมัยก่อนผมมั่นใจว่าผมเคยแลกนามบัตรเป็นพัน ๆ ใบ มีนามบัตรเยอะแยะเต็มบ้านไปหมด ก็เลยคิดพัฒนานามบัตรดิจิทัลนี้ขึ้นมาเพื่อใช้แทนนามบัตรกระดาษ เราก็โชว์ QR Code ให้ปลายทางเขาส่องเพื่อจะได้รับนามบัตรของเรา และเราเองก็สามารถ scan นามบัตรของเขาก็ได้ ทำให้เราได้ข้อมูล ไม่ว่าเขาจะให้เรามาเป็นกระดาษ หรือ QR Code เราก็สามารถจัดเก็บได้ ค้นหาได้ ติดต่อได้ เมื่อสักครู่ที่พูดถึงว่ามีนามบัตรเต็มบ้านไปหมด ตอนนี้ก็ไม่มีแล้ว เพราะว่ามีฟีเจอร์การแปลงข้อมูลในนามบัตรกระดาษเป็นข้อมูลในมือถือของเราเลยโดยไม่ต้องคีย์ ไม่ต้องป้อนข้อมูล มันเป็น AI อ่านจากภาพแล้วก็แปลงให้เลย ทำให้เวลาเราจะติดต่อก็สามารถทำได้โดยสะดวก

แล้วจะนำไปใช้อะไร ลักษณะการใช้เป็นอย่างไร มีศัพท์อยู่คำหนึ่ง อยากให้ทุกท่านติดตามศัพท์คำนี้ดู คือคำว่า “Customer Data Platform” คือระบบการจัดการข้อมูลลูกค้าให้เป็นแพลตฟอร์มส่วนกลาง ลองนึกภาพว่าองค์กรเราเป็นบริษัทที่มีเซลส์หลายคน เคยไหมเวลาที่เราส่งเซลส์ไปพบลูกค้า เราไม่รู้ว่าไปพบจริงหรือเปล่า และข้อมูลของลูกค้า ที่ไหน มีใครบ้าง ใครเป็นผู้จัดการ ใครเป็นฝ่ายบริการลูกค้า เราะไม่เคยมีข้อมูล แต่เซลส์ที่ไปพบลูกค้ามีข้อมูล จะทำอย่างไรให้ข้อมูลนี้ไหลเข้ามาทันทีที่เซลส์แลกนามบัตรกับลูกค้า ไปส่อง QR Code หรือนามบัตรกระดาษของลูกค้า ข้อมูลไม่ได้เก็บไว้ที่ตัวเซลส์เท่านั้น แต่จะไหลมาที่องค์กร มีเว็บกลางอยู่หลังบ้านให้องค์กรสามารถเข้าถึงได้ แปลว่าอะไร แปลว่าถ้าเซลส์ลาออกจากบริษัท เขาอาจจะเอานามบัตรกระดาษของลูกค้าติดไปก็ได้ แต่ข้อมูลบนแพลตฟอร์มจะยังอยู่ YourQR จะเก็บข้อมูลไว้ให้กับองค์กรสามารถนำไปจัดการต่อได้ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ผมอยากเล่าให้ฟังว่านามบัตรดิจิทัลนั้นสามารถนำไปใช้อย่างไรได้บ้าง

และวันนี้ผมมีข่าวดีมาแจ้งครับ คือปกติเราเก็บนามบัตรของบุคคลต่าง ๆ ที่เราติดต่อด้วยเพื่อจะค้นหาได้ และติดต่อเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ อีเมล์ ไลน์ เฟซบุ๊ค ที่สะดวก แล้วเราเก็บนามบัตรใครไว้บ้าง กลุ่มแรกคือนามบัตรของบุคคลที่เราไปพบมา กลุ่มที่สองคือนามบัตรของร้านค้าหรือธุรกิจที่เราใช้บริการอยู่ ลองนึกภาพดูสิครับว่าจะดีแค่ไหนถ้าในแอพสามารถเก็บช่องทางการติดต่อในส่วนของร้านค้าได้ด้วย เพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำเพราะถูกใจในสินค้าอย่างที่ ดร.วิริยะพูดไปในตอนต้น แต่พอลูกค้าจะซื้อแต่หาช่องทางการติดต่อร้านกลับไม่เจอ ไปเจอของคู่แข่งแทนทั้ง ๆ ที่เขาชอบสินค้าของเรา ทำอย่างไรให้เขาชอบเราแล้วต้องกลับมาซื้อกับเราได้ ShopQR จะเป็นตัวที่ช่วยคุณได้ แล้ว ShopQR คืออะไร

ยกตัวอย่างเคสร้านอาหาร บ่อยครั้งที่เราไปรับประทานอาหารที่ร้านแล้วชอบอยากสั่งมารับประทานที่บ้านแต่ไม่รู้ว่าจะสั่งทางไหน ถ้าร้านอาหารนั้นมี ShopQR ที่ให้เราสแกน ข้อมูลของร้านอาหารก็จะถูกเก็บไว้ในมือถือของเรา เวลาเราจะสั่งอาหารก็สามารถเลือกได้เลยว่าจะสั่งทางไหน โทรศัพท์หรือเดลิเวอรี่ ๆ ก็สามารถเลือกผู้ให้บริการได้ด้วย แค่ร้านอาหารมี QR Code ไว้ให้ลูกค้าสแกน ลูกค้าก็จะมีช่องทางการติดต่อสั่งอาหารได้หรือในอนาคตอยากจะเพิ่มเมนูก็แค่เพิ่มลิงค์ไปที่เมนูให้ลูกค้าเลือกสั่งได้เลย หรือจะเพิ่มบริการเดลิเวอรี่เจ้าใหม่ขึ้นมาภายหลังก็สามารถเพิ่มได้

หรืออย่างร้านค้าออนไลน์ บางครั้งเราสั่งสินค้ามาแล้วรู้สึกชอบ อยากสั่งอีกแต่ก็ลืมไปแล้วว่าสั่งอย่างไร ถ้าเพียงร้านค้านั้นมี ShopQR ติดไว้บนกล่องสินค้าเพื่อที่ลูกค้าจะสแกน เพื่อสอบถามหรือสั่งสินค้าจากช่องทางต่าง ๆ ในครั้งต่อไปได้ หรือจะนำไปสู่หน้าเว็บ เพจเฟซบุ๊ค Shopee Lazada ก็ทำได้ มันอาจจะเป็นเพียงไอเดียเล็ก ๆ ที่เราเชื่อว่ามีประโยชน์และนำไปใช้ได้จริง

และที่ผมกล่าวไปคือการเปิดตัวบริการใหม่สำหรับ SMEs ให้ได้ใช้ฟรี ใครที่สนใจติดตามได้จากในเพจเรา แค่บอกมาว่าคุณเป็นร้านประเภทไหน และอยากให้มีลิงค์อะไรใน ShopQR บ้าง เราจะทำต้นแบบมาให้ และจะติดต่อทุกรายกลับไปว่าบริการเราพร้อมแล้ว และไม่ต้องห่วงครับ เราให้บริการนี้ฟรี เพราะเราเชื่อมั่นว่าทุกคนที่ทำจะได้ประโยชน์ และการติดต่อสื่อสารโดยใช้เทคโนโลยีแบบนี้มันรวมศูนย์ เข้ากับพฤติกรรมยุคโควิดตอนนี้ และเป็นการบริการแบบไร้สัมผัส ไม่สิ้นเปลือง ทำ ShopQR ครั้งเดียวรวมทุกอย่างเอาไว้เลย ถ้ามีลูกค้าสนใจเชิญติดต่อมาได้เลยครับ

Q&A

Q: ในภาวะโควิด ธุรกิจอะไรที่มาแรง

A: ธุรกิจที่มาแรงในช่วง COVID-19 คือ 

(1) ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ 

(2) ขายของออนไลน์ แต่ต้องเลือกสินค้าหน่อยนะครับ 

(3) บริการส่งของ ส่งเอกสาร 

(4) ธุรกิจที่ให้บริการตามบ้าน เช่นทำความสะอาด ล้างรถ ขนย้ายสิ่งของ และ 

(5) ธุรกิจการสอนออนไลน์




บริษัท นายเน็ต จำกัด

47/17 ถนนเสนานิคม 1 แขวงลาดพร้าว

เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ 10230


โทรศัพท์ 083-084-1771

อีเมล์ contact@9net.co.th

Copyright ® 2023 9net.co.th